คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ น่าจะเคยเห็นป้ายภาษาไทย ตามร้านอาหารต่างประเทศ อย่างร้านอาหารจีน ร้านอาหารเกาหลี ผ่านตากันมาสักครั้ง และก็เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนที่เห็นข้อความบนป้ายเหล่านั้น ก็น่าจะรู้สึกหงุดหงิดใจไม่น้อย กับดิไซน์ที่มันดูอ่านยาก และไม่เข้ากับงานออกแบบเอาเสียเลย ฟอนต์ที่ว่านี้ ชื่อว่า “Tahoma (ทาโฮมา)”
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะที่ผ่าน ๆ มาในมุมของคนทำธุรกิจนั้นการเลือกฟอนต์ที่จะใช้สื่อสารกับผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยการเลือกฟอนต์ที่ดี จะช่วยให้สามารถสื่อถึงตัวตนของแบรนด์ ออกไปได้ชัดเจน
เช่น ถ้าเปรียบแบรนด์เป็นคนหนึ่งคนแล้ว แบรนด์นั้น ๆ จะเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยอย่างไร ?
ยกตัวอย่างกรณีของ IKEA ที่เลือกใช้ฟอนต์ชื่อว่า Noto IKEA ซึ่งพัฒนามาจากฟอนต์ชื่อ Noto ที่มี Google เป็นผู้ร่วมออกแบบ โดย “Noto” มาจากคำว่า “No Tofu” หรือก็คือเป็นฟอนต์ที่จะ ไม่มีตัวสี่เหลี่ยมเลย เพราะรองรับได้มากกว่า 800 ภาษา สื่อให้เห็นว่า บริษัทพร้อมดำเนินกิจการไปทั่วทุกมุมโลกนั่นเอง
อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ร้านอาหารต่างประเทศ นิยมเลือกใช้ฟอนต์ Tahoma ?
เริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไม Tahoma ถึงเป็นฟอนต์ที่ขัดใจใครหลายคน ?
มีข้อมูลว่า Tahoma เป็นฟอนต์ที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่แรก แต่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ของหน้าจอที่แสดงผลไม่คมชัดของคอมพิวเตอร์ ในปี 1994 โดยฟอนต์ Tahoma จะถูกออกแบบมาให้มีความโปร่งจากภายใน และมีสัดส่วนที่อ่านง่ายกว่าฟอนต์อื่น ๆ เมื่อต้องแสดงผลบน “หน้าจอที่มีความละเอียดต่ำ” อย่างไรก็ตาม ฟอนต์นี้ ดูจะเหมาะสมสำหรับการแสดงผลบนขนาดจอของคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ทำให้เมื่อนำฟอนต์ Tahoma ไปขยายใหญ่ขึ้น และนำไปใช้กับงานประเภทอื่น ๆ เช่น ใช้กับงานพิมพ์หรือขึ้นป้ายโฆษณา ฟอนต์ Tahoma ก็จะยิ่งดูไม่สมส่วน จนขัดตาใครหลายคน เหมือนที่เราเห็นตามป้ายโฆษณา และตามเล่มเมนูต่าง ๆ ในร้านอาหารต่างประเทศนั่นเอง
ทีนี้.. ในเมื่อมันไม่เหมาะกับงานพิมพ์และงานโฆษณา แล้วทำไมเราถึงมักเห็นร้านอาหารต่างประเทศ ใช้ฟอนต์ Tahoma กันเต็มไปหมด ? ด้วยความที่ Tahoma เป็นฟอนต์ที่ใช้งานได้ดีกับหน้าจอที่มีความละเอียดต่ำ คอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ เลยมักมีการติดตั้งฟอนต์ Tahoma มากับตัวเครื่องเลย ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Windows และ macOS ก่อนจะถูกพัฒนาให้รองรับอีกหลายภาษามาก ๆ ตั้งแต่ช่วงต้นของยุค 2000
ทำให้ Tahoma กลายเป็นหนึ่งในฟอนต์ที่สะดวกและเหมาะมาก กับงานที่มีหลายภาษาในชิ้นเดียว เช่น ป้ายร้านหรือเมนูอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลองพิมพ์ภาษาต่างประเทศ คู่กับภาษาไทย ด้วยการใช้ฟอนต์ Angsana New เทียบกับ Tahoma ในบางภาษา จะเห็นได้ว่า การพิมพ์ข้อความทั้งหมดด้วยฟอนต์ Tahoma ที่รองรับหลายภาษา จะให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดูดี และเพี้ยนน้อยกว่าการพิมพ์ด้วย Angsana New
นี่เองจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมเจ้าของร้านอาหารต่างประเทศ ถึงเลือกใช้ Tahoma เป็นฟอนต์หลัก ตามสื่อต่าง ๆ ภายในร้าน เพราะร้านอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะต้องการจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยการมีเมนูอาหารหรือชื่อร้าน ที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ อยู่ภายในงานชิ้นเดียวกันนั่นเอง
แม้การใช้ฟอนต์ Tahoma จะดูขัดใจไปบ้าง แต่ภาพรวมงานจะออกไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการคุม CI ของแบรนด์ได้ทั้งหมด แถมอีกเหตุผลคือ ไม่ต้องกลัวใครมาฟ้อง เพราะเป็นฟอนต์พื้นฐาน ไม่ใช่ฟอนต์ที่มีคนออกแบบขึ้นมาใหม่ แล้วเอาไปจดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ด้วยความที่รองรับได้หลายภาษา ยังทำให้การใช้ฟอนต์ Tahoma แต่แรก ทางเจ้าของร้านเอง ยังสามารถเพิ่มภาษาใหม่ ๆ เข้าไปในภายหลังได้โดยง่าย โดยไม่กระทบกับของเก่า และไม่ต้องเสียเงินจ้างคนมาทำฟอนต์เลยสักบาทอีกด้วย
สรุปคือ แม้ Tahoma อาจจะดูเป็นฟอนต์ที่ขัดใจใครหลายคน แต่ด้วยข้อดีบางอย่างที่กล่าวไป มันก็เลยเป็นอะไรที่ถูกใช้ตามกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่น่ารักของร้านอาหารต่างประเทศในบ้านเราไปแล้ว
ใน MV เพลง LALISA ของลิซ่า ศิลปินชื่อดัง ก็ยังมีการนำป้ายร้านอาหารที่ใช้ฟอนต์ Tahoma มาเป็นส่วนหนึ่งของฉากอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก MarketThink
💡คิดถึงงานวิจัย คิดถึง Survey Market Thailand นะคะ
.
🎯 สนใจทำวิจัยการตลาด ติดต่อ หรือ ปรึกษาเราได้ตามช่องทางด้านล่างนี้นะคะ :
📱Tel : คุณเรด 065-387-5499 / คุณปลา 096-140-4854
💬 Line : https://lin.ee/1WIknkQ
✉️ Email : surveymarketthailand@gmail.com
🌐 Website : https://surveymarketthailand.co.th
.
#วิจัยออนไลน์ #วิจัยการตลาด #บริการด้านวิจัยตลาด #รับทำวิจัยภาคสนาม #รับแผนการตลาด #บริการการตลาดออนไลน์ #การตลาดออนไลน์ #Surveymarket #Businessplan2023 #รับทำการตลาดออนไลน์ #วิจัยปโท #โปรเจ็คจบ #งานวิจัย #วิจัยจบ #รับทำวิจัย #ปริญญาโท