ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ
องค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำธุรกิจ คือ การวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทุกด้านอย่างรัดกุมและเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุความตั้งใจนี้ นั่นคือ ‘ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ’ ที่มีประสิทธิภาพ โดย แผนธุรกิจนี้ จะเป็นคู่มือนำทางการดำเนินธุรกิจโดยนำเสนอการวิเคราะห์รายละเอียดธุรกิจในตัวแปรสำคัญ ได้แก่ สินค้าหรือบริการที่ขาย กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคต่างๆ ของธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ ทักษะการเขียนแผนธุรกิจจึงมีความจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ไม่ได้มุ่งมั่นกับการหางานประจำ แต่ต้องการเป็นนายตัวเองด้วยการเปิดกิจการส่วนตัว ดังนั้น นอกจากความรู้ทางวิชาชีพด้านบริหารธุรกิจที่สถาบันการศึกษาเปิดสอนแล้ว การบ่มเพาะ ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและทวีความสำคัญขึ้นมากในยุคนี้ โดยเฉพาะในการเรียนการสอนสายวิชาชีพหรืออาชีวศึกษา ที่ผู้ที่เรียนจบมาทางนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะเติบโตเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพ
อยากประสบความสำเร็จ ต้องเรียนรู้หัวใจสำคัญ ‘ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ’ ให้ถ่องแท้
ก่อนที่จะไปรับรู้ถึงแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ และ Success case จากการแข่งขันประกวดการเขียนแผนธุรกิจ จนกระทั่งสามารถนำแผนธุรกิจนั้นไปผลิตสินค้าจำหน่ายในท้องตลาดได้ของเด็กอาชีวศึกษา ขอกล่าวถึงหลักการสำคัญของ ‘ทักษะการเขียนแผนธุรกิจ’ เพื่อให้เห็นความจำเป็นของทักษะแห่งอนาคตนี้ก่อน
เริ่มจากการเรียนรู้ก่อนว่า แผนธุรกิจ หรือ Business Plan (BP) มีความสำคัญอย่างไร คำตอบที่ได้ก็ชัดเจนว่า BP ใช้ในการตรวจสอบและวางแผนธุรกิจ ทำให้เข้าใจธุรกิจของตนเองและใช้เป็นคู่มือในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเมื่อเปิดกิจการได้ระยะหนึ่ง ก็สามารถนำแผนธุรกิจนั้นไปต่อยอดขยายธุรกิจได้ด้วย โดยคุณสมบัติของ BP ที่ดี ต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย มีข้อมูลถูกต้องโดยมีการทำวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลมาสนับสนุน
ส่วนประเด็นที่ต้องมีใน BP คือ สินค้าหรือบริการที่จะขายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ นโยบายการตลาด วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต รวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ตัวเลขทางการเงิน โดยตัวชี้วัดว่า BP นั้นมีความละเอียดและมีประสิทธิภาพต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้
• บทสรุปผู้บริหาร อธิบายว่าจะทำธุรกิจอะไรและแนวคิดของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร โอกาสและกลยุทธ์ กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและความสามารถเชิงกำไร ทีมผู้บริหาร และข้อเสนอผลตอบแทน
• ประวัติย่อของกิจการ ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกิจการ เสนอแนวความคิดและที่มาของการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค้นและพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นในอนาคต
• การวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นการพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขัน ซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์แบบ SWOT Analysis
• วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ หมายถึง ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของแผน เช่น เป้าหมายระยะสั้นภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลาง 3-5 ปี และเป้าหมายระยะยาวที่นานกว่า 5 ปี โดยลักษณะเป้าหมายของธุรกิจที่ดี ต้องมีความเป็นไปได้ สามารถวัดผลได้ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
• แผนการตลาด คือ การกำหนดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด โดยเนื้อหาของแผนการตลาดต้องตอบคำถามหลักๆ ได้ดังนี้ เป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำให้ได้ในระยะเวลาของแผนคืออะไร? ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย? จะนำเสนอสินค้าหรือบริการอะไร ในราคาเท่าใด ด้วยวิธีการอะไร? จะสร้างและรักษาความพึงพอใจได้ด้วยวิธีการอะไร? ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะปรับตัวหรือแก้ไขอย่างไร?
• แผนการจัดการและแผนคน เพื่อระบุถึงโครงสร้างขององค์กร คือ โครงสร้างขององค์กร ตำแหน่งบริหารหลัก ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้บริหาร ผู้ร่วมลงทุน ไปจนถึงคณะกรรมการบริษัท
• แผนการผลิต ต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนอื่นๆ เช่น แผนการตลาด แผนการบริหารและจัดการบุคลากรและแผนการเงิน ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้ เช่น คุณภาพ การออกแบบสินค้าและบริการ กระบวนการผลิต การจัดส่งสินค้า
• แผนการเงิน เจ้าของกิจการต้องทราบว่าการจะดำเนินธุรกิจให้ได้ตามแผนจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนเท่าใด ได้จากแหล่งใด ทั้งกิจกรรมหาเงิน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมดำเนินงาน โดยนักบัญชีจะเป็นผู้นำเสนอผลของกิจกรรมทั้งสามและสรุปออกมาเป็นงบการเงิน (Financial Statements) ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีฐานะทางการเงินอย่างไร กำไรหรือขาดทุน
• แผนการดำเนินงาน การจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การตลาด การเงิน โดยนำมาทำแผนการดำเนินงานที่มีรายละเอียดของเป้าหมาย กลยุทธ์ วิธีการ งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ
• แผนฉุกเฉิน เป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่สถานการณ์หรือผลลัพธ์จากดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนเป็นผลกระทบในทางลบกับกิจการ